ปลัด อว.ชูสร้างฉากทัศน์ใหม่ พลิกโฉมประเทศไทยด้วยการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงสร้าง Innovation Ecosystem ส่งเสริมด้วย Innovation Sandbox ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2565

ปลัด อว.ชูสร้างฉากทัศน์ใหม่ พลิกโฉมประเทศไทยด้วยการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง
สร้าง Innovation Ecosystem ส่งเสริมด้วย Innovation Sandbox 
ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2565
     
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการเปิดเวทีเสวนาในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 เรื่อง “ พลิกโฉมประเทศไทยด้วยกำลังคนสมรรถนะสูงและเส้นทางอาชีพนักวิจัย ” และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ความท้าทายใหม่ของ อววน. เพื่อการพัฒนานักวิจัยของประเทศ
    
  ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนด้านการวิจัยประเทศ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและการลงทุนในเรื่องนี้จะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าประเทศใดจะพัฒนามากน้อยเพียงใด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ไทยลงทุนด้านวิจัยเพียง 0.25% ต่อจีดีพี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วลงทุนถึง 4% และบางประเทศอาจสูงถึง 12 % แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยลงทุนงบวิจัยเพิ่มเป็น 1-1.1% และ ล่าสุดเพิ่มเป็น 1.3% ซึ่งถือว่ามาไกลมาก แต่ต้องทำให้ถึงเป้าหมาย 2% และถ้าได้ถึง 4%ก็ยิ่งดี 
       
ปลัดกระทรวง อว.กล่าวต่อว่า การสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงซึ่งเป็นคำที่ใช้กับนักวิจัย และนักวิชาการของประเทศ ถือว่ามีความสำคัญมาก ขณะนี้ประเทศไทยมีนักวิจัยทั้งสิ้น 169,000 คน คิดเป็น 17 คน ต่อประชากร 10,000 คน มากกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่มีเพียง 12-15 คน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ที่ 60-100 คน หน้าที่ของพวกเราในเวทีนี้จึงอยากให้โจทย์ได้ช่วยกันคิดว่า เราควรทำอะไรอย่างไรและมีทิศทางการพัฒนาคนสมรรถนะสูงอย่างไร ที่จะพลิกโฉมประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง สู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้กระทรวง อว.ซึ่งตั้งมาเพียง 3 ปี ได้พยายามทำทุกวิถีทางในการสร้างอีโค่ซิสเต็มให้เกิดแรงจูงใจแก่เส้นทางวิชาชีพนักวิจัยให้ดีที่สุดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ขับเคลื่อนและหนุนเสริมกำลังคนวิชาการ กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ภาคการผลิตและภาคความต้องการใช้ประโยชน์จากกำลังคนสมรรถนะสูง สอดล้องและสมดุลกัน โดยมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่1. การผลิตกำลังคนคุณภาพสูงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ โครงการ EEC, Work-integrated Learning และการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ได้ดำเนินการปฏิรูปการอุดมศึกษาควบคู่ ผ่านการใช้กระบวนการ Higher Education Sandbox กลไกนวัตกรรมการอุดมศึกษา ในการพัฒนาหลักสูตรทดลอง เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งกลไกอื่น ๆ อาทิ การส่งเสริมการเรียนข้ามสถาบัน การจัดตั้งธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) 2.การเคลื่อนย้าย แลกเปลี่ยน เพื่อป้อนกำลังคนคุณภาพสูงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการลงทุนด้านการวิจัยของประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้มุ่งเน้น BCG และการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ การพัฒนาเครื่องโทคาแมค ผลิตนิวเคลียร์ฟิวชัน การสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เป็นต้น และ3. การเติบโตในเส้นทางอาชีพนักวิจัย โดยปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 เพื่อให้นักวิจัยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนับเป็นแรงจูงใจ (Intensive) ที่สำคัญที่จะทำให้การวิจัยเติบโตและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งการส่งเสริมให้นักวิจัยได้เติบโตในเส้นทางอาชีพ ได้ดำเนินการเพิ่มช่องทางการขอตำแหน่งทางวิชาการอีก 5 ช่องทาง 
อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์ของ สอวช. คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2570 จีดีพีของ ประเทศไทยจะต้องเพิ่มอัตราส่วนการลงทุน ภาครัฐ : เอกชน 
เป็น 30:70 และเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเป็น 30 คนต่อประชากร 10,000 คน เพื่อให้ระบบวิจัยก้าวหน้าสามารถดำเนินการโดยการส่งเสริม Innovation Ecosystem และการขับเคลื่อน New growth engine ด้วยนวัตกรรม โดยประเทศไทยได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายแผนการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2565-2570 สำหรับกระทรวง อว. มีกลไกที่ช่วยสนับสนุนนักวิจัยมืออาชีพเข้าสู่การเชื่อมโยงองค์ความรู้ในหลายส่วนผ่านกลไกการดำเนินโครงการ Hi -FI Consortium, Total Innovation Management Enterprise; TIME, Talent Mobility เป็นต้น โดยกระบวนการการพัฒนาดังกล่าวจะสามารถทำให้งานวิจัยของประเทศไทยมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเข้าสู่เป้าหมาย
ที่สำคัญ คือ อันดับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific infrastructure) ของประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1ใน 30

         
 ปลัด อว.กล่าวว่า การพลิกโฉมประเทศไทยด้วยกำลังคนสมรรถนะสูงและเส้นทางอาชีพนักวิจัย มีการกำหนดยุทธศาสตร์โดยแบ่งออกเป็น ด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การบริการ การเกษตรและอาหาร โดยตั้งเป้าหมายสร้างนักเรียนมัธยมและอาชีวะ 1.9 ล้านคน เพิ่มเป็นนิสิต นักศึกษา และพัฒนาเป็นกำลังแรงงานในสถานประกอบการ 40 ล้านคน จึงมีการสร้างระบบนิเวศทางวิชาการ 
ที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย สถานประกอบการ และชุมชน เริ่มจากการคัดเลือกนักศึกษา การบ่มเพาะอาจารย์นักวิจัย และสนับสนุนบุคลากรจนได้ประสิทธิภาพสูงสุด ในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการทำงานร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรมที่เน้นในเรื่องของทักษะและพัฒนากำลังคนเฉพาะด้านให้ตอบสนองกับนโยบายของภาครัฐ 
หลังจากนั้นเป็นการเสวนา เรื่อง พลิกโฉมประเทศไทยด้วยกำลังคนสมรรถนะสูงและเส้นทางอาชีพนักวิจัย โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงมีความสำคัญต่อการพลิกโฉมประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กระทรวง อว.มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจตลอดจนปรับแนวทางทำให้เกิดผลดีต่อการวิจัยของประเทศ แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องทำเพิ่มขึ้นคือ การสร้างระบบ Innovation Ecosystem การก้าวกระโดดโดยมี Innovation Sandbox การส่งเสริมให้นักวิจัยสามารถนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่า การสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงไม่ควรมองแค่จำนวนแต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ จะต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้นเพื่อตอบโจทย์วิจัยตามความต้องการของตลาด ส่วนในภาคการศึกษาจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ได้บัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มีมายด์เซ็ทเหมาะกับการเป็นผู้มีทักษะในการเข้าสู่โลกในศตวรรษที่ 21

ไม่มีความคิดเห็น