อว. ขึ้นเหนือ นำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ศึกษาพืชสมุนไพรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นถิ่นชนเผ่าอ่าข่า สู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นำคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาพืชสู่การสร้างแหล่งเรียนรู้สมุนไพร อาหารพื้นบ้านในชุมชนชาติพันธุ์อ่าข่า จังหวัดเชียงราย” มี นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก แห่งศูนย์วิจัยเพื่อท้องถิ่นด้านชาติพันธุ์-ชนเผ่า จังหวัดเชียงราย เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า และโครงการวิจัย เรื่อง “การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าชนเผ่าอ่าข่า สู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน” โดยมี นายอาพี สะโง้ เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าของชนเผ่าอ่าข่า ภายใต้แผนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) ด้านชนเผ่า จังหวัดเชียงราย พร้อมนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวสุภาพรรณ โทขัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก วช. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยฯ ณ บ้านแสนใจพัฒนา ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และ บ้านสองแควพัฒนา ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2566
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับตามเป้าประสงค์ในการพัฒนาประเทศใน 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่ง วช. ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการบริหารทุนวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ การติดตามงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) ด้านชนเผ่า จังหวัดเชียงราย ของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นชาติพันธุ์-ชนเผ่า จังหวัดเชียงราย ภายใต้เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่าในครั้งนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากคณะตรวจเยี่ยมจะได้เห็นภาพการดำเนินงานในพื้นที่จริงแล้ว ยังจะได้รับทราบปัญหาอุปสรรค และให้ข้อเสนอแนะที่จะสะท้อนให้ผู้แทนในระดับกระทรวงได้รับทราบ และเป็นประโยชน์ต่อแนวทางในการกำหนดแผนงานในระดับกระทรวงต่อไป
นางสาวสุภาพรรณ โทขัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก วช. กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม สร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้กับประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ได้พัฒนาตนเองให้เป็นนักวิจัย และได้นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนา และแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง รวมไปถึงการสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอดผลงานวิจัยทั้งที่เป็นรูปแบบของกระบวนการ รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน นำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศต่อไป
นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาพืชสู่การสร้างแหล่งเรียนรู้สมุนไพร อาหารพื้นบ้านในชุมชนชาติพันธุ์อ่าข่า จังหวัดเชียงราย” กล่าวว่า วช. ได้ให้การสนับสนุนทุนโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาพืชสู่การสร้างแหล่งเรียนรู้สมุนไพร อาหาร พื้นบ้านในชุมชนชาติพันธุ์อ่าข่าจังหวัดเชียงราย” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนวัยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุของชุมชนบ้านแสนใจพัฒนา ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกรักต่อทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีการจัดกลไกการทำงานของชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ และป่า เพื่อเป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ของชุมชน เครือข่าย เด็ก เยาวชน และผู้สนใจ โดยศึกษาพัฒนาทำศูนย์การเรียนรู้สมุนไพร พืชอาหาร หรือศูนย์พฤกษศาสตร์ชุมชนพื้นบ้าน “Akha Community Botanical Center” ไว้เป็นแหล่งศึกษาผ่านรูปแบบการจัดการของชุมชน โดยปราชญ์ผู้รู้ อันเป็นมรดกทางสังคม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างห้องเรียนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ของชุมชนชาติพันธุ์ของจังหวัดเชียงราย
ทางด้านนายอาพี สะโง้ หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าชนเผ่าอ่าข่า สู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน” กล่าวว่า โครงการวิจัย เรื่อง “การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าชนเผ่าอ่าข่า สู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน” ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. โดยงานวิจัยเป็นหนึ่งกระบวนการที่คนในชุมชนได้มีโอกาสร่วมคิด ร่วมทบทวนสถานการณ์ ตั้งคำถาม วางแผนหาข้อมูล ทดลองทำ รวมไปถึงการวิเคราะห์ สรุปผลการทำงานและหาคำตอบเพื่อปรับปรุงงานต่อไป โดยใช้ “คน” และใช้เครื่องมือการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นเครื่องมือ เข้ามาร่วมในกระบวนการวิจัย ตั้งแต่การเริ่มคิด เริ่มทำอย่างเป็นรูปธรรม เรียนรู้จากการปฏิบัติการจริง (Learning By Doing) อันทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ สร้างผลงาน มีความเก่งขึ้นในการแก้ปัญหาของตนเอง และสามารถใช้กระบวนการนี้ในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในท้องถิ่นโดยมีกระบวนการศึกษาเรียนรู้อย่างมีเหตุผล ดังนั้น งานวิจัยจึงต้องเน้น “กระบวนการ” เพื่อให้เกิด “ผลผลิต” และ “ผลลัพธ์” ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง และเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาของชาวบ้าน รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงในชุมชน ซึ่งจะต้องอาศัย “เวที” พูดคุยกัน ถกเถียงและร่วมใช้ “ปัญญา” เพื่อหาทางออกของปัญหา
สำหรับแผนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำในมิติด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านการศึกษา มิติด้านความรู้ และมิติด้านเชิงพื้นที่ ใช้รูปแบบกระบวนการวิจัยการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของชุมชน (CBR) มุ่งเน้นพัฒนากลไกการหนุนเสริมงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้มีศักยภาพ โดยการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับชุมชน สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการ ศูนย์ประสานงานวิจัย/โหนดพี่เลี้ยง ชุมชน และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ในการส่งเสริมแก้ไขและป้องกันการสร้างความเหลื่อมล้ำ ภายหลังที่ได้มีการดำเนินการวิจัยในแต่ล่ะส่วนโครงการย่อย ได้ทำการประเมินผลกระทบในภาพรวมในเชิงมูลค่าทางสังคม (Social Value) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการดำเนินการวิจัยโดยใช้แนวคิดในเรื่อง การวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) มาประกอบการพิจารณา โดยผลที่ได้จากการศึกษาจะนำไปสู่การกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในการพัฒนาท้องถิ่นและจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งเป็นต้นเหตุที่สร้างปัญหาทางสังคมด้านต่าง ๆ ในลำดับต่อไป
Post a Comment