วช เปิด กลยุทธ์ ปั้นเด็กไทยในยุคดิจิทัล ในงานวันนักประดิษฐ์ 2566
วช เปิด กลยุทธ์ ปั้นเด็กไทยในยุคดิจิทัล ในงานวันนักประดิษฐ์ 2566
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาครัฐเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรด้านการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ จัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ต่อเนื่องเป็นปีที่24 ระหว่าง 2-6 กุมภาพันธ์ ณ อีเว้นท์ฮอล 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา
โดยปีนี้จัดยิ่งใหญ่ มีผลงานจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติส่งผลงานเข้าร่วมกว่า1,000ผลงาน จาก24 ประเทศ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานจำนวนมาก
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า งานวันนักประดิษฐ์ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ถือเป็นเวทีระดับชาติยิ่งใหญ่เวทีหนึ่งที่นอกจากเปิดโอกาสให้ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนในวงกว้าง เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักประดิษฐ์ไทยกับนักประดิษฐ์นานาชาติ และยังเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่เยาวชนและนักประดิษฐ์รุ่นใหม่อีกด้วย
งานวันนักประดิษฐ์2566 วันที่สอง 3 กุมภาพันธ์ วช จึงได้ร่วมกับ สวทช .สพฐ.และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ ปั้นเด็กไทยในยุคดิจิทัล ณ เวทีกลาง ฮอล101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนาโดยมีศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทชศาสตราจารย์ ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ สพฐ ร่วมเปิดแนวคิด โดยทั่งสามฝ่ายเห็นตรงกันว่า เด็กไทยในยุคดิจิทัลมีความรู้ความสามารถและเก่งไม่แพ้ใครแต่โลกในยุคศตวรรษที่21 การเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องเป็นเด็กที่มีทักษะทางอาชีพและสามารถปรับตัวให้ดูแลตัวเองได้อย่างมีความสุขท่ามกลางการแข่งขัน ดังนั้นการเปิดโอกาสและพื้นที่เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สร้างประสบการณ์ที่หลากหลายในลักษณะActive Learning เพื่อให้เด็กได้เลือกตามความถนัดและไปต่อยอดตามช่องทางในการแสวงหาความรู้อย่างเวทีงานวันนักประดิษฐ์ที่ วช ดำเนินการจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก จึงขอขอบคุณ วช ในการจัดงานลักษณะนี้
ดร. เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า ขอขอบคุณ วช ที่ให้โอกาส สพฐ ในการจัดนักเรียนวันละ5,000 คน9เขตพื้นที่การศึกษามาดูงานวันนักประดิษฐ์
เพราะเราไม่ได้ต้องการให้เด็กเรียนอยู่ในโรงเรียน เท่านั้นและไม่ได้ให้มาเพื่อดูงานอย่างเดียวแต่นี่คือการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อปีหน้าเราจะได้เห็นเด็กสร้างโปรดักส์และแบรนด์ของตัวเองในนามของ สพฐ เป็นเด็กไทยที่ไม่ว่าจะอายุเท่าใดไม่จำเป็นจะต้องเรียนเก่งแต่สามารถมองออกและรู้ความต้องการของตนเอง และก้าวไปสู่จุดหมายที่ตั้งเป้าได้ สพฐมีความยินดีและขอขอบคุณอาจารย์ และ วช ที่ทำให้เด็กไปสู่ฝั่งฝันดั่งที่ปั้นไว้
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์โดยต้องทำในระดับเด็กและเยาวชนจะดีที่สุด เวทีประกวดของ วช ในงานวันนักประดิษฐ์จึงมีความสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้เกิดความคิดใหม่ๆ ไม่ใช่การเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว ต้องขอขอบคุณ วช ที่เป็นหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ดูแลส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนทุกระดับตั้งแต่ผลงานนักเรียนมัธยม อาชีวศึกษา อุดมศึกษา จนถึงเวทีสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ เยาวชนไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การที่เด็กเข้ามาในเวที ถือเป็นแต้มต่อของชีวิตและจะเป็นทักษะติดตัวตลอดไป
ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทช. กล่าวว่า สังคมปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่เรียนหนังสือเก่งสอบได้เกรดดีอีกต่อไป หลังสถานการณ์โควิด-19 เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกันว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จไม่ใช่เด็กเก่ง แต่คือเด็กที่ปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ๆฝึกฝนตนเองปรับปรุงตัวเองตลอดเวลา เด็กต้องเรียนรู้นอกหลักสูตร นอกห้องเรียน จุดประกายความคิดใหม่ๆ สามารถนำสิ่งที่เป็นฐานความรู้ไปต่อยอดได้ ต่อไปมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญกับเด็กที่เก่งนอกห้องเรียน และจะไม่ได้ต้องการเด็กที่เก่งวิชาการเท่านั้นแต่ต้องเป็นเด็กที่จะปรับตัวให้มีโอกาสได้ดีที่สุด
วช.ขอเชิญชวนประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ร่วมเยี่ยมชมงาน วันนักประดิษฐ์2566 ณ อีเว้นท์ฮอล 100–102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่าง2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่ 09.00-17.00 น
Post a Comment