บพข-ม.รามคำแหง จัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวทางทะเลจังหวัดชุมพร
บพข-ม.รามคำแหง จัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวทางทะเลจังหวัดชุมพร
โครงการยกระดับบริหารจัดการการท่องเที่ยวดำน้ำคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ตราด (มหาวิทยาลัยรามคำแหง) แผนงานการวิจัยการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเลจังหวัดชุมพร ในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมมรกต อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการชุดแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. พร้อมด้วย รศ.ดร.มาฆมาส สุทธาชีพ ดร.วิชิน สืบปาละ และ ดร.สิทธิพร เพ็งสกุล มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งริเริ่มให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนชั้นนำของโลก โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Pathway) ในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2568-2570 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งพัฒนากิจกรรมที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงบวก (Nature Positive Tourism) ซึ่งเน้นการฟื้นฟูและดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แนวปะการัง ป่าชายเลน และพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล รวมทั้งสนับสนุน Nature-based Solutions โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดชุมพรเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมในการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การลดและการชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล พร้อมทั้งนำเสนอมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย ซึ่งได้ประยุกต์มาจากมาตรฐานการท่องเที่ยวระดับสากล อาทิ มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC), มาตรฐานกรีนโกลบ (Green Globe), มาตรฐาน ECO Certification Program ของออสเตรเลีย, มาตรฐาน ISO, มาตรฐานกรีนฟินส์ (Green Fins) และมาตรฐานการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่ครอบคลุม 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก แคนู/คายัค และเจ็ตสกี
มาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยประกอบด้วย 6 องค์ประกอบหลัก 33 เกณฑ์ พร้อมตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยองค์ประกอบหลัก ได้แก่:
1. การบริหารจัดการที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
2. การใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
3. การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืนสำหรับชุมชนและนักท่องเที่ยว
4. การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน
5. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และภูมิทัศน์
6. การบริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างครบวงจร
ในปี พ.ศ. 2566-2567 ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเลในหลายพื้นที่ได้ผ่านการฝึกอบรม เช่น จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความยั่งยืนของการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย นอกจากนี้ การจัดอบรมครั้งนี้ยังได้แนะนำการใช้งาน TOOLKIT มาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการฝึกอบรมทั้งแบบออนไลน์และการเรียนรู้ด้วยตนเอง สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและเรียนรู้มาตรฐานการท่องเที่ยวดังกล่าวอย่างทั่วถึง
คุณวัชรินทร์ แสวงการ ประธานกลุ่มการจัดการอ่าวท้องตมและการท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องตมใหญ่ และอุปนายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคใต้ กล่าวว่า “พวกเราทำ แม้ใครจะไม่ทำ และเราทำมานานกว่า 20 ปีแล้ว นี่คือธรรมชาติของเรา” การดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเลภายใต้แนวคิด Nature Positive Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงบวกต่อธรรมชาติ ซึ่งเน้น "การปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ" ผ่านการออกแบบกิจกรรมที่วางแผนอย่างรอบคอบ ไม่เพียงแต่ลดผลกระทบต่อธรรมชาติ แต่ยังเปลี่ยนผลกระทบเชิงลบให้กลายเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวในรูปแบบนี้มุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักแก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทน การลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน สำหรับมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาแนวทางการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจะได้รับการยอมรับในฐานะธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงทั้งในและต่างประเทศ ช่วยส่งเสริมการตลาดในระดับสากลอีกด้วย
คุณภิญญดา ศรีชลธาร ผู้ประกอบการบริษัทจอยทัวร์ดำน้ำกินปูห้อยขา กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทจอยทัวร์ดำน้ำกินปูห้อยขา ปฏิบัติตามแนวทางมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้มีการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบ การเข้าร่วมการอบรมฯ ในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล ทำให้เข้าใจแนวทางการดำเนินงานอย่างชัดเจนและครบถ้วน ทั้งในด้านการวัดและประเมินผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการชดเชยคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเสริมสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดอบรมฯ ครั้งนี้ มีผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเลเข้าร่วมอบรมจำนวน 68 คน และมีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอน ผ่านแอปพลิเคชัน “ZERO CARBON” อีกด้วย
Post a Comment