วช. หนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ผลิตข้าวครบจบในแอพเดียวยกระดับรายได้ชาวนาไทยอย่างยั่งยืน

วช. หนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ผลิตข้าวครบจบในแอพเดียวยกระดับรายได้ชาวนาไทยอย่างยั่งยืน


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยข้าวคลองหลวง กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ในการใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์พัฒนาระบบที่ปรึกษาชาวนาไทยผ่านแอปพลิเคชัน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตไปจนถึงการตลาด วิเคราะห์ต้นทุน ราคาขาย ผลกำไร ระบบเตือนภัยทางการเกษตร ทั้งเรื่องโรคระบาด และสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ ในการวางแผนการผลิต การคัดเลือกพันธุ์ข้าว เพื่อให้ชาวนามีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้มีรายได้และความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
   
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ถือเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้น หรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สู่ชุมชน โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยชาวนาไทย ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน ทำให้มีหนี้สินเป็นส่วนใหญ่ จึงมีการนำแอปพลิเคชันมาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์กระบวนการผลิตครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงในขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิต ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ นับว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้อนข้อมูลให้ชาวนาได้นำไปวางแผนการเพาะปลูกข้าวในแต่ละฤดูกาล
    
นางสาวกุลศิริ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาชาวนาไทยประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงมาก ไม่ว่าสาเหตุมาจากผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ประสบภาวะขาดทุนหรือกำไรต่ำ นอกจากนี้ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเช่น สภาพเศรษฐกิจ ตลาดที่แข่งขันสูง ราคาข้าวเปลือกที่ไม่แน่นอน โรงสีและพ่อค้าคนกลางไม่เป็นธรรม ส่วนปัจจัยภายใน เช่น วงจรการกู้เงินเพื่อชาวนา การขาดองค์ความรู้ การขาดเงินทุน และทรัพยากรน้ำ ซึ่งล้วนแต่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวนา เป็นปัญหาเรื้อรังนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ และความยากจน จากปัญหาที่เกิดขึ้นของชาวนา ทางทีมวิจัยจึงได้จัดทำโครงการนำระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2561 ได้ทำโครงการพัฒนาและทดสอบแบบจำลองสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการผลิตข้าวแบบครบวงจรในพื้นที่ภาคกลาง ต่อมาปี 2562 ได้ทำโครงการประยุกต์ใช้แบบจำลองสารสนเทศเพื่อวางแผนการผลิตข้าวเป็นทางเลือกหนึ่ง ช่วยให้ชาวนามีกำไรสูงขึ้น และมีการวางแผนการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ส่วนในปี 2563 ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีในการยกระดับรายได้ของชาวนาในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก จัดเก็บข้อมูลด้านการผลิตและจัดส่งเข้าระบบแบบปัจจุบัน (Real Time) จากนั้นวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลส่งให้กับทีมงานพัฒนาโปรแกรมเข้าสู่การเป็นปัญญาประดิษฐ์ เมื่อได้ข้อมูลที่เพียงพอจัดทำเป็นแอปพลิเคชันระบบที่ปรึกษาชาวนาไทย ผลิตข้าวครบจบในแอพเดียว ซึ่งเป็นที่มาของโครงการนี้ในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไปยกระดับชาวนาในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทยต่อไป

นางสาวกุลศิริ ได้กล่าวถึงผลตอบรับจากการใช้แอปพลิเคชันนี้ว่า ในระยะแรกชาวนาที่เข้าร่วมโครงการทดสอบระบบ มีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59 ต้นทุนลดลงร้อยละ 24 ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และมีกำไรเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 สำหรับการขยายผลต่อยอดแอปพลิเคชันระบบที่ปรึกษาชาวนาไทย ได้มีการขยายการทดลองและยืนยันผลการใช้งานไปในจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ นำร่องที่จังหวัดเชียงราย สุพรรณบุรี สกลนคร สุรินทร์ และพัทลุง โดยประยุกต์ใช้ภาคกลางโมเดลการผลิตข้าวแบบครบวงจร การจัดการฐานข้อมูลด้วยวิธีออนโทโลยี (ontology) และภาคกลางโมเดลการผลิตข้าวแบบครบวงจร เพื่อให้ได้ข้อมูลจำนวนมาก และนำมาปรับแต่ง เพื่อให้นวัตกรรมเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าสู่ระบบปัญญาประดิษฐ์ ให้มีความชาญฉลาดมากขึ้นและครอบคลุมการใช้ประโยชน์ของชาวนาทั้งประเทศ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาแอปพลิเคชันระบบที่ปรึกษาชาวนาไทย

ปัจจุบันแอปพลิเคชันระบบที่ปรึกษาชาวนาไทย อยู่ในระยะทดลองและยืนยัน (Validation) ทำการขยายผลยกระดับรายได้ของเกษตรกรนาแปลงใหญ่และศูนย์ข้าวชุมชน และจะนำไปสู่ระยะขยายผล ( implementation ) สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่และศูนย์ข้าวชุมชนที่กระจายและอยู่ในกำกับของศูนย์ผลิตพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวต่อไป ผู้สนใจสามารถเข้าดูรูปแบบและทดลองใช้แอปพลิเคชันที่ปรึกษาชาวนาไทย ได้ที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=th.go.ricethailand.allrice