วช. โชว์ “รั้วไร้สาย” งานวิจัยเพื่อความมั่นคง ป้องกันคนลอบเข้าเมือง ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2566

วช. โชว์ “รั้วไร้สาย” งานวิจัยเพื่อความมั่นคง ป้องกันคนลอบเข้าเมือง ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2566

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัยแก่ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ ในการคิดค้นผลงาน “รั้วไร้สาย (ปรับปรุงปี 2564)”

 โดยมี พลเรือตรี อนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณรอยต่อชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังช่วยเตือนภัยพิบัติธรรมชาติได้อีกด้วย ซึ่งผลงานดังกล่าวได้นำมาจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

พลเรือตรี อนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการดำเนินการคิดค้น “รั้วไร้สาย (ปรับปรุงปี 2564)” เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติต่าง ๆ บริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มีหลักการทำงานโดยใช้เซนเซอร์ที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวของบุคคลและยานพาหนะ
 ซึ่งคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีฝนตกชุกหรืออากาศร้อนได้ดี เน้นการซ่อนพรางไว้ในบริเวณต่าง ๆ  สามารถครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นป่ารกทึบได้เป็นอย่างดี  โดยกล่องแสดงผลสามารถตรวจจับได้ 8 ทิศทางพร้อมกัน และแต่ละทิศทางสามารถวางแนวตรวจจับได้ไกลทิศทางละ 2 กิโลเมตร  และในแต่ละทิศทางสามารถกำหนดระยะได้ 8 ช่วง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ดี มีโอกาสในการตรวจจับผู้บุกรุกได้สูง อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้มีการพรางสายตา ใช้งานง่าย ซ่อมบำรุงไม่ยาก และมีความน่าเชื่อถือและแม่นยำสูง หากมีคนหรือยานพาหนะเคลื่อนไหวผ่านแนวเซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ เซนเซอร์จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนผ่านสายไปยังกล่องแสดงผล จากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมอยู่ จะติดตามทิศทางการเคลื่อนไหว ซึ่งหากเป็นบุคคลที่ลักลอบเข้ามาหรือยานพาหนะที่สนับสนุนการขนย้าย เจ้าหน้าที่ก็จะทำการเข้าจับกุมทันที 

ปัจจุบัน ผลงาน “รั้วไร้สาย” ได้นำไปใช้จริงในพื้นที่ชายแดนไทย – กัมพูชา บริเวณจังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ ยังได้นำไปประยุกต์ใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติให้กับประชาชนในพื้นที่บ้านผามูบ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และบ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน อีกทั้งยังได้ทดสอบการใช้งานแจ้งเตือนช้างป่าเข้ามาในพื้นที่ชุมชน ในตำบลทับช้าง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และนักวิจัยได้นำมาจัดแสดงในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาอีกด้วย